Novotný, Antonin (1904-1975)

นายอันโตนิน นอวอตนี (๒๔๔๗-๒๕๑๘)

​     ​​​อันโตนิน นอวอตนีเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเชโกสโลวะเกีย (People’s Democratic Republic of Czechoslovakia) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๘ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวัก (Czechoslovak Communist Party - CCP) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขาได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ที่จงรักภักดีต่อสตาลิน" (Stalinist) และในเวลาต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคอมมิวนิสต์สายสตาลินให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคนที่ ๑ ของพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักใน ค.ศ. ๑๙๕๓ นอวอตนีไม่เห็นด้วยกับนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization)* ของนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khruschev)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

และพยายามคัดค้านการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ เขาถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเขาสนับสนุนให้สหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubcek)*คอมมิวนิสต์นักปฏิรูปชาวสโลวักจึงดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศแทนใน ค.ศ. ๑๙๖๘ และเขาดำเนินการปฏิรูปประเทศซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นช่วงสมัยของ "ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก"(Prague Spring)*
     นอวอตนีเกิดในครอบครัวกรรมกรที่ยากจนเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ที่ เมืองเลตนานี (Letnany) ใกล้กรุงปราก บิดาเป็นช่างก่ออิฐและมารดาทำงานโรงงานทอผ้า นอวอตนีต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวโดยเป็นลูกมือช่างทำกุญแจ และต่อมาเป็นกรรมกรโรงงานผลิตอาวุธใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ขณะอายุ ๑๖ ปี เขาเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มคอมมิวนิสต์เช็กซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ในขณะนั้น ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๙ มีการจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก (Slovak Soviet Republic) ขึ้นที่เมืองคอชอ (Kassa) ทางตะวันออกของแคว้นสโลวาเกีย (Slovakia) ตามแบบสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์สโลวักปกครองได้เพียง ๒ สัปดาห์กว่าก็ถูกโค่นอำนาจลง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สโลวักจึงรวมตัวเข้ากับกลุ่มคอมมิวนิสต์เช็กจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ นอวอตนีมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการรวมตัวกันของกลุ่มคอมมิวนิสต์เช็กและสโลวัก และการแยกตัวออกจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเป็นพรรคอิสระ พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักจึงเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายตลอดมายกเว้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๔ ซึ่งเชโกสโลวะเกียถูกเยอรมนียึดครอง
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๙ นอวอตนีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในองค์กรพรรคและเขาสนับสนุนพรรคให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ต่อมา เมื่อชาวเยอรมันในแคว้นซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือของประเทศก่อการเคลื่อนไหวเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนี นอวอตนีสนับสนุนเคลเมนต์ กอตต์วาลด์ (Klement Gottwald)* ผู้นำพรรคให้ประกาศนโยบายเป็นศัตรูกับรัฐบาลกลางซึ่งมีประธานาธิบดีเอดุอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* เป็นผู้นำและต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนของเช็ก อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับเชโกสโลวะเกีย (Soviet- Czech Treaty of Alliance) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ พรรคคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งมีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับความนิยมมากขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi)* เริ่มนโยบายคุกคามยุโรป นอวอตนีซึ่งเป็นผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์เช็กเข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ ๗ ขององค์การโคมินเทิร์นที่กรุงมอสโกมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประเทศสมาชิกโคมินเทิร์นให้ใช้นโยบายแนวร่วมประชาชน (Popular Front) กับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ คอมมิวนิสต์เพื่อร่วมมือกันต่อต้านนาซี เขาสนับสนุนกอตต์วาลด์รณรงค์ให้รัฐบาลเช็กดำเนินนโยบายต่อต้านเยอรมนีในการยึดครองแคว้นซูเดเทนลันด์อย่างถึงที่สุดแต่ประสบความล้มเหลว เพราะตามความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ค.ศ. ๑๙๓๘ เชโกสโลวะเกียต้องยินยอมให้เยอรมันครอบครองแคว้นซูเดเทนลันด์โดยมีเงื่อนไขว่าเยอรมนีจะไม่รุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ นอวอตนีถูกโอนไปปฏิบัติงานที่แคว้นโมราเวีย (Moravia) เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานขององค์การพรรคส่วนภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพ และเขาประสบความสำเร็จในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์การพรรคส่วนภูมิภาคจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตาม หลังเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ รัฐบาลเช็กหันมาปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดจนต้องกลายเป็นพรรคใต้ดินและแกนนำ พรรคคอมมิวนิสต์หลายคนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
     เมื่อเยอรมนีบุกยึดครองเชโกสโลวะเกียในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้ร่วมงานกับขบวนการรักชาติต่าง ๆ ต่อต้านเยอรมนี นอวอตนีก็ ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านเยอรมนีด้วย แต่ถูกจับกุมใน ค.ศ. ๑๙๔๑ และถูกส่งไปทำงานที่ค่ายกักกันแรงงาน (Concentration Camp)* ที่เมืองเมาท์เฮาเซิน (Mauthausen) จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง และในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงคราม พรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนนิยมมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ นอวอตนีซึ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคใน ค.ศ. ๑๙๔๖ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกอตต์วาลด์ผู้นำพรรคให้รวบอำนาจการปกครองด้วยการปลดรัฐมนตรีของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และแต่งตั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าดำรงตำแหน่งแทน การยึดอำนาจทางการเมืองดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีในชื่อรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ (Coup d’ Etat of February) ค.ศ. ๑๙๔๘ ในเวลาต่อมานอวอตนีจึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของโปลิตบูโรใน ค.ศ. ๑๙๕๑
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๓ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินนโยบายกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งสมาชิกพรรคที่ต่อต้านนโยบายบริหารประเทศตามแบบสหภาพโซเวียต นอวอตนีสนับสนุนการกวาดล้างแกนนำสมาชิกพรรคที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับกอตต์วาลด์ โดยเฉพาะกุสตาฟ ฮูซาก (Gustav Husak)* ผู้นำคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์สโลวักซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของเขา ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ นอวอตนีได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคนที่ ๑ ต่อจากกอตต์วาลด์ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมในเดือนมีนาคม และเมื่ออันโตนิน ซาโปตอตสกี (Antonin Zapotocký)* ประธานาธิบดีถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๗ นอวอตนีก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสืบแทนจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๘
     นอวอตนีปกครองประเทศอย่างเข้มงวดและดำเนินนโยบายตามแนวทางของสหภาพโซเวียตอย่างเคร่งครัด เขาให้สร้างค่ายกักกันแรงงานเพื่อกำจัดประชาชนและกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลรวมทั้งเสริมสร้าง ลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality)* เพื่อวางฐานอำนาจของตนให้มั่นคงขึ้น ตลอดจนส่งบุคคลที่สนับสนุนเขาไปควบคุมโรงงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ตอบสนองความต้องการของสหภาพโซเวียต เมื่อครุสชอฟเริ่มนโยบายการกวาดล้างอิทธิพลสตาลินทั้งในสหภาพโซเวียตและในประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) นอวอตนีพยายามต่อต้านนโยบายดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการควบคุมประชาชนเพื่อขัดขวางแนวความคิดปฏิรูปเขาสนับสนุนสหภาพโซเวียตในการส่งกองทัพเข้าไปปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังการี ค.ศ. ๑๙๕๖ (Hungarian Uprising)* ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ นอวอตนีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia Socialist Republic) โดยอ้างว่าเชโกสโลวะเกียเป็นประเทศสังคมนิยมประเทศแรกในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศบนเส้นทางสังคมนิยม และกำลังเริ่มยุคใหม่ของช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยมไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ รัฐบาลปรับนโยบาย เศรษฐกิจให้มีความยืดหยุ่นขึ้นเพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้น และเพื่อหยุดยั้งกระแสการเคลื่อนไหวรวมตัวของกรรมกรซึ่งเริ่มไม่พอใจความเข้มงวดของการควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และความล้าหลังของนโยบายเศรษฐกิจแต่ก็ประสบความล้มเหลว
     นอกจากนี้ บรรยากาศเสรีที่ก่อตัวขึ้นในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินก็ทำให้ปัญญาชนและนักเขียนเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูป แม้รัฐบาลจะจับกุมและปราบปรามแต่การต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มปัญญาชนได้รวมตัวกันก่อตั้ง "สโมสร ๒๓๑" (Club 231) ขึ้น เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในคดีการเมืองโดยเรียกร้องให้มีการไต่สวนพิจารณาคดีตามกระบวนการของกฎหมาย ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ มีการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ของสหภาพนักเขียน (Union of Writers) ที่กรุงปราก นักเขียนที่มีชื่อเสียงทั้งที่ เป็นสมาชิกพรรคและไม่ใช่สมาชิกพรรค เช่นมิลาน คุนเดรา (Milan Kundera) และวาซสลาฟ ฮาเวล (Václav Havel)* ต่างโจมตีนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่ ต่อต้านอิสราเอลในสงคราม ๖ วันระหว่างอาหรับกับอิสราเอล และเรียกร้องเสรีภาพแก่สื่อมวลชนและการปฏิรูปเศรษฐกิจ นอวอตนีตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดในรูปแบบต่าง ๆ สมาชิกพรรคหัวปฏิรูปต่างรวมตัวเป็นกลุ่มฝ่ายค้านภายในพรรคต่อต้านมาตรการของรัฐบาลและแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์สโลวักซึ่งมีดูบเชกเป็นผู้นำก็เคลื่อนไหวโจมตีนอวอตนี ขณะเดียวกันฮูซากนักคอมมิวนิสต์แนวปฏิรูปซึ่งเกลียดชังนอวอตนีก็เริ่มวิพากษ์โจมตีนอวอตนีอย่างเปิดเผยในหนังสือรายสัปดาห์ Kulturny Zivet ของสหภาพนักเขียนสโลวักอย่างต่อเนื่อง โดยประณามการปกครองเผด็จการของนอวอตนีและเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองด้วยการกระจายอำนาจการปกครองตลอดจนให้สโลวะเกียมีรัฐบาลปกครองตนเอง นอวอตนีพยายามต่อต้านกระแสการปฏิรูปด้วยการขอความร่วมมือจากตำรวจลับและทหารเพื่อปราบปราม แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยชาร์ลและสถาบันการศึกษาระดับสูงอื่น ๆ รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านนอวอตนีอย่างต่อเนื่องการต่อต้านนอวอตนีจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วในวงกว้างทั้งภายในและภายนอกพรรคคอมมิวนิสต์
     ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักมีมติไม่ไว้วางใจ นอวอตนีและแต่งตั้งอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สโลวักเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคแทนนอวอตนี การก้าวสู่อำนาจของดูบเชกได้นำไปสู่ช่วงสมัยของการปฏิรูปประเทศที่เรียกกันทั่วไปว่า "ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก" ดูบเชกประกาศปฏิรูปประเทศทางด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งการยกเลิกระบบเซนเซอร์และให้ ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลได้ หนังสือพิมพ์จึงเริ่มขุดคุ้ยการฉ้อฉลในระดับสูงซึ่งเกี่ยวพันกับนอวอตนีและบุตรชายด้วย อย่างไรก็ตาม นอวอตนีพยายามแย่งชิงอำนาจกลับคืนด้วยการติดต่อกับประธานาธิบดีเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตคนใหม่ซึ่งนิยมสตาลินให้ส่งกองทัพเข้ามาช่วยปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์แนวทางปฏิรูปขณะเดียวกัน กลุ่มที่สนับสนุนเขาก็เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อติดต่อกับผู้นำองค์การพรรคส่วนท้องถิ่น และส่วนภูมิภาคในระดับต่าง ๆ ให้สนับสนุนนอวอตนี ในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มที่สนับสนุนดูบเชกก็ใช้วิธีการเดียวกันและยังติดต่อกับกลุ่มปัญญาชนและกรรมกรซึ่งไม่พอใจการปกครองของนอวอตนีด้วย แต่ความพยายามของ นอวอตนีและกลุ่มที่สนับสนุนเขาก็ประสบความล้มเหลวเพราะสหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะส่งกองทัพเข้ามาช่วยเหลือ และประชาชนตลอดจนองค์การพรรคระดับต่าง ๆ ต่างสนับสนุนนโยบายปฏิรูปของดูบเชก ต่อมาในวันที่ ๒๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ นอวอตนีก็ถูกบีบให้ลาออกจาก ตำแหน่งประธานาธิบดี และนายพลลุดวิก สวอบอดา (Ludvik Svoboda) ซึ่งสนับสนุนดูบเชกได้เข้าดำรงตำแหน่งแทน กลุ่มนิยมสตาลินภายในพรรคก็ถูกขับออกจากอำนาจด้วย ในปลาย ค.ศ. ๑๙๖๘ นอวอตนีก็ ถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกพรรคและคณะกรรมาธิการกลางพรรคทั้งถูกไต่สวนความผิดในช่วงบริหารประเทศ
     อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เบรจเนฟผู้นำสหภาพโซเวียตก็สนับสนุนนอวอตนีให้กลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งหนึ่ง แต่เขาก็แทบจะไม่มีบทบาทสำคัญใด ๆ ภายในพรรค และไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ของประเทศอีก อันโตนินนอวอตนีเก็บตัวเงียบและถึงแก่อสัญกรรมโดยไม่มีผู้ใดสนใจเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๕ ขณะอายุได้ ๖๑ ปี.



คำตั้ง
Novotný, Antonin
คำเทียบ
นายอันโตนิน นอวอตนี
คำสำคัญ
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- ฮาเวล, วาซสลาฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์
- เมาท์เฮาเซิน, เมือง
- โมเรเวีย, แคว้น
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- สโมสร ๒๓๑
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ซาโปตอตสกี, อันโตนิน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- นโยบายแนวร่วมประชาชน
- ความตกลงมิวนิก
- ฮังการี, สาธารณรัฐโซเวียต
- สโลวาเกีย, แคว้น
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- สโลวัก, สาธารณรัฐโซเวียต
- สนธิสัญญาพันธมิตรกับเชโกสโลวะเกีย
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- เบเนช, เอดูอาร์ด
- เลตนานี, เมือง
- ดูบเชก, อะเล็กซานเดอร์
- ซูเดเทนลันด์, แคว้น
- คอชอ, เมือง
- กอตต์วาลด์, เคลเมนต์
- นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- เชโกสโลวะเกีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน
- สวอบอดา, ลุดวิก
- นอวอตนี, อันโตนิน
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- ฮูซาก, กุสตาฟ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- คุนเดรา, มิลาน
- รัฐบริวารโซเวียต
- การลุกฮือของชาวฮังการี ค.ศ. ๑๙๕๖
- เชโกสโลวะเกีย, สาธารณรัฐสังคมนิยม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1904-1975
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๗-๒๕๑๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf